เกี่ยวกับเรา

กรุงเทพมหานครเป็นมหานครท่องเที่ยวที่ดีที่สุด

about-home-image

ประวัติความเป็นมา

สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแต่เดิมคือ ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร (ศทท.)ถือกำเนิดขึ้นตามนโยบายของ ดร. พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2540 เพื่อสนับสนุนโครงการปีท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2541 - 2542 หรือ Amazing Thailand Years 1998 -1999 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2540 อนุมัติให้จัดตั้งขึ้นในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ. 2541 และงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เริ่มแรกที่จัดตั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครซึ่งแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 50 เขต แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป

ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครได้ขยายโครงสร้างหน่วยงานและเปลี่ยนชื่อเป็น “กองการท่องเที่ยว” สังกัดสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ด้วยภารกิจที่มากขึ้นของกรุงเทพมหานครในด้านต่าง ๆ ทำให้กรุงเทพมหานครได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานของกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นลำดับ ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 มีการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักต่างๆ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีการจัดตั้งสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวขึ้น และให้โอนย้ายกองการท่องเที่ยวมาอยู่ภายใต้ การควบคุมดูแลโดยตรงของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว

ต่อมากองการท่องเที่ยวได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ยกระดับขึ้นเป็นสำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยรวมกองการท่องเที่ยวและกองวัฒนธรรมเดิมในสังกัดสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เข้าไว้ด้วยกัน แบ่งส่วนราชการเป็นส่วนการท่องเที่ยว และส่วนวัฒนธรรม ส่วนการท่องเที่ยว มีศูนย์บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้แก่ ซุ้มประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร 22 จุด ตั้งอยู่ในย่านชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของกรุงเทพมหานคร เช่น ย่านกรุงรัตนโกสินทร์ ย่านราชประสงค์ ย่านสุขุมวิท และย่านสีลม เป็นต้น เพื่อให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวและข้อมูลด้านความปลอดภัยสำหรับเป็นแนวทาง ในการเดินทางท่องเที่ยวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครให้สนุกสนาน เพลิดเพลิน และรู้จักระมัดระวังตัวจากมิจฉาชีพที่มักแฝงกายมาในรูปแบบต่าง ๆ

    ส่วนการท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สังกัดสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร มีชื่อภาษาอังกฤษดังนี้

  • Tourism Division
  • Office of Culture and Tourism
  • Culture, Sports and Tourism Department
  • Bangkok Metropolitan Administration

จุดบริการการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ส่วนการท่องเที่ยวสำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

location_on

เลขที่ 17/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงพระบรมมหาราชวังเขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

add_to_home_screen

02-225-7612-3

อำนาจหน้าที่

กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว มีหน้าที่ความรับผิดชอบ เกี่ยวกับการจัดทำแผนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์ และจัดทำสื่อ จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเสริม และพัฒนาการบริการด้านการท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร ให้ได้มาตรฐาน สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศและในประเทศ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม MICE ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

พันธกิจ

“พัฒนาทรัพยากรและการตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยกลไกการบริหารจัดการเชิงเครือข่ายสู่คุณภาพการบริการด้วยมิตรไมตรี”

ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว

แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การต่อยอดความเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการเรียนรู้

1. ยุทธศาสตร์ย่อยที่ 6.2 กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวระดับโลก เป็นการควบรวม ยุทธศาสตร์ย่อยเดิม ด้านการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก และด้านการพัฒนา สู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจตามฐานนวัตกรรม – วัฒนธรรม โดยการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบ ของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป และการนำเทคโนโลยีมาใช้ส่งเสริมความเชื่อมั่น ด้านความปลอดภัย และคุณภาพการให้บริการด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้พิการและ ผู้สูงอายุ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ และการพัฒนาศักยภาพ บุคลากรด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพ

2. ยุทธศาสตร์ย่อยที่ 6.3 เมืองแห่งการจัดประชุมนิทรรศการ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมในด้าน การมุ่งสร้างภาคีเครือข่าย และการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมนิทรรศการ การแสดงสินค้า และ การท่องเที่ยวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจหรือการให้รางวัลแก่พนักงาน (MICE) เพื่อเป็นการขยายผล การดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 6 การต่อยอดความเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ จึงมีจุดหมายสำคัญที่จะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี ระบบการจัดการฐานข้อมูล และ การบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย เป็นรูปแบบหลักในการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนา กรุงเทพมหานครในด้านเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของเอเชีย ด้านการเรียนรู้ การจัดประชุมและนิทรรศการ ที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคและเป็นที่ยอมรับ ในระดับนานาชาติ

1. กลยุทธ์การพัฒนา Application เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

2. กลยุทธ์การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว รองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม และเหมาะสมสำหรับกลุ่ม คนพิการหรือผู้สูงอายุ

3. กลยุทธ์การพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในระดับสากล สามารถแข่งขันกับเมืองท่องเที่ยวชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียได้อย่างภาคภูมิ

4. กลยุทธ์การส่งเสริมการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านการจัดงานส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ (Road Show/Trade Show)

5. กลยุทธ์การฟื้นฟูทรัพยากรการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวเดิมให้มีศักยภาพ พร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีคุณภาพ

6. กลยุทธ์การส่งเสริมการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของเมืองและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นพื้นที่ หรือย่านเก่าที่มีความน่าสนใจ

7. กลยุทธ์การส่งเสริมประชาสัมพันธ์องค์กร (Corporate Branding) และการส่งเสริมการตลาดของกรุงเทพมหานคร

8. กลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครทั้งภายใน และนอกหน่วยงานกรุงเทพมหานครให้มีความรู้ ความเข้าใจสามารถที่จะปฏิบัติภารกิจตามขอบเขตงาน

9. กลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดประชุม นิทรรศการ การแสดงสินค้า และ การท่องเที่ยวเพื่อสร้างแรงบันดาล ใจหรือการให้รางวัลแก่พนักงาน (MICE)

รายละเอียดเพิ่มเติม https://webportal.bangkok.go.th/public/user_files_editor/130/BMA-developmentplan/P20ys_rivise.pdf